วิจัยใหม่ 2022 บอกว่า? กินหวานเทียม เสี่ยงเป็นมะเร็ง! แต่อย่าพึ่งตกใจกลัวกันเกินไป…เราลองมาดูรายละเอียดวิจัยนี้กันก่อนดีกว่า
เอาจริงๆ แล้ว งานวิจัยนี้ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เป็นงานวิจัย 2022 โดย Debras et al จากฝรั่งเศส
มีอาสาสมัครเข้าร่วมวิจัยกว่า 102,865 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง อายุเฉลี่ย 40 ปี
เก็บข้อมูลด้วยการกรอกแบบสอบถาม โดยเก็บข้อมูลพฤติกรรมการกิน กิจกรรมระหว่างวัน รวมไปถึงการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ อย่างละเอียด
กลุ่มอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการนี้มาตั้งแต่ 2009 โดยสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลที่งานวิจัยนี้เน้นเป็นหลักๆ คือ
Aspartame (แอสปาร์แตม) และ Acesulfame-K (เอซีซัลเฟม-เค)
CORRELATION งานวิจัยนี้พบการเชื่อมโยงระหว่าง พฤติกรรมการบริโภคสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลและความเสี่ยงมะเร็ง
คำศัพท์ที่ใช้คือ “Artificial sweeteners were associated with increased cancer risk”
CORRELATION IS NOT CAUSATION แต่การเชื่อมโยง ไม่ใช่สาเหตุ
งานวิจัยไม่ได้บอกว่า เป็นมะเร็งเพราะสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาล ถ้าหากเขาฟันธงแบบนี้
งานวิจัยจะต้องใช้คำว่า “Artificial Sweeteners were the cause of cancer”
คือระบุได้เลยว่า ต้นเหตุของมะเร็ง คือ สารให้ความหวานทดแทนน้ำตาล ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานที่กล้าฟันธงแบบนี้ ที่น่าเชื่อถือพอ
ทำไมถึงฟันธงไม่ได้?
อย่าลืมว่า งานวิจัยนี้ไม่ได้เอาคนมาเข้าห้องแล็บแล้วให้กินสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลเป็นเวลาหลายๆ ปี
แต่เป็นการ “ถาม” ข้อมูลพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิตจาก “กลุ่ม” คนกลุ่มเดียว
ถึงแม้ตัวเลขอาสาสมัครหลักแสนคนจะดูเยอะ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าผู้หญิงวัย 40 กว่า จากฝรั่งเศสจะเป็นตัวแทนผู้หญิงทุกคนในโลกได้
เพราะยังมีตัวแปรอื่นๆ อีกมากมาย ที่ส่งผลต่อความเสี่ยงมะเร็ง อีกทั้งงานวิจัยนี้ไม่สามารถฟันธงได้ 100%
ปัจจัยอื่นๆ ที่หลากหลายทำให้พูดยากว่า ความเสี่ยงมะเร็งที่เพิ่มขึ้น เป็นเพราะสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาล หรือ หวานเทียมเท่านั้น
ยกตัวอย่าง กลุ่มคนที่กินหวานเทียม อาจจะมีพฤติกรรมอื่นๆ พ่วงมาด้วย เช่น ในงานวิจัยนี้พบว่า คนที่กินหวานเทียม
ดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลและกินอาหารแปรรูป (Ultra-Processed Food) ในปริมาณที่สูงกว่าคนที่ไม่กินหวานเทียม
ซึ่งเราจะไปโทษน้ำตาล หรือ อาหารแปรรูปก็ไม่ได้ เพราะมันยังมีปัจจัยของแต่ละคนอีกเยอะมาก
ตัวอย่างปัจจัยหนึ่งที่งานวิจัยนี้ไม่ได้พูดถึง คือ การนอน ซึ่งงานวิจัยของ Mendoza, 2019 ที่ถูกอ้างอิงโดย American Heart Association
พบว่ามีการเชื่อมโยงระหว่างการนอนน้อยกับมะเร็ง และโรคต่างๆ มากมาย ที่ทำให้อายุสั้นลง
แต่เราเห็นด้วยกับผลของงานวิจัยนี้ในระดับหนึ่ง คือ หวานเทียมมันมีหลายชนิด สำหรับงานวิจัยนี้ จะเน้นไปที่แอสปาร์แตม และ เอซีซัลเฟม-เค
ซึ่งเป็นสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลที่พบได้ในน้ำอัดลม ซึ่งนักวิจัยบอกว่า เขาไม่คิดว่าสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลเหล่านี้ “เป็นตัวเลือกทดแทนที่ปลอดภัย”
ที่เราเห็นด้วยเพราะผลข้างเคียงระยะยาวของหวานเทียม (ทุกชนิด) ตอนนี้ยังเป็นที่ศึกษากันอยู่ จึงแนะนำให้ดื่มน้ำเปล่าให้เยอะขึ้น
และไม่พึ่งหรือใช้สารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลเยอะจนเกินความจำเป็น
แต่ก็มีบางส่วนที่เราไม่เห็นด้วย เพราะในโลกนี้ไม่มีอะไร “ปลอดภัย 100%” เนื่องจากไม่มีงานวิจัยไหนที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าการ “เลี่ยงหวานเทียม” จะทำให้ไม่เสี่ยงเป็นมะเร็ง หรือการเลี่ยงหวานเทียม แล้วไปกินอย่างอื่นแทน อาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยงโรคอื่น ซึ่งเราไม่รู้
เพราะในโลกนี้ ไม่มีทางออกในการแก้ปัญหาที่สมบูรณ์แบบ เราเลือกอะไรก็ต้องแลกมาด้วยบางอย่างเสมอ
เพราะปัจจัยที่จะทำให้เราเป็นโรคต่างๆ มันเยอะมาก และโรคร้าย ก็มีหลากหลาย
ดังนั้น ความเห็นส่วนตัว คือ การเลี่ยงหวานเทียม อาจจะไม่ใช่คำตอบ
ไม่กินหวานเทียม ไปกินน้ำตาล ก็จะไปเจองานวิจัยที่พบการเชื่อมโยงเรื่องน้ำตาลกับโรคต่างๆ และถึงไม่กินน้ำตาลเลย แต่ไม่ออกกำลังกายก็เสี่ยงอายุสั้นอยู่ดี
และถ้าจะเลิกกินหวาน ก็อาจจะต้องถามตัวเองคือ “ไหวไหม?” (และเราจะทำไปได้นานเท่าไหร่)
สรุป
แค่โควิด และสงคราม ชีวิตก็โหดร้ายพอแล้ว เราถึงเชื่อว่า เราไม่มีสิทธิ์ไปทำให้คุณต้องกลัวกว่าเดิมหรือเครียดกว่าเดิม
เราเลยไม่ห้ามคุณกินอะไรที่คุณอยากกิน อยากกินเหล้า กินหวานเทียม เอาเลย แต่กินแบบมีสติก็เพียงพอ
References
Debras, 2022
Artificial sweeteners and cancer risk: Results from the NutriNet-Santé population-based cohort study
Mendoza, 2019
Interplay of Objective Sleep Duration and Cardiovascular and Cerebrovascular Diseases on Cause‐Specific Mortality
AHA, 2019 Sleeping less than 6 hours may raise risk of cancer, even death