รีบๆ หรือ ช้าๆ : ฟิตหุ่นแบบไหนดีกว่ากัน – เทคนิคง่ายๆ ที่จะทำให้คุณฟิตแบบมีสมอง!

ออกกำลังกายแบบรีบๆ กับแบบใจเย็นๆ แบบไหนดีกว่ากัน

เคยสงสัยมั้ย ว่าบางคนออกกำลังกายแบบ ฮึดมากๆ ทนกินไปได้ไงไม่รู้อาหารจืดๆ และออกกำลังกายหนักๆ สงสัยมั้ยว่าเค้าทำได้ยังไง และได้ผลมั้ย และเราควรทำตามหรือเปล่า

หรือว่าบางคนฟิตหุ่นแบบใจเย็นๆ กินอะไรนอกบ้านประจำ ก็เห็นเค้าได้ผลดี

สรุปแล้วแบบไหนมันดีกว่ากัน?! วันนี้เรามาหาคำตอบ

และผมมีข้อคิดง่ายๆมาฝากกันครับ

ขอแบ่งหมวดหมู่คนเป็น 3 ประเภทครับ

  • A แบบใจเย็น ค่อยๆเป็นค่อยๆไป 
  • B แบบใจร้อน คุมเคร่ง สุดโต่ง
  • C ไม่เคยคิดจะคุม อ้วนก็ปล่อยอ้วน ไม่ได้คิดจะฟิตหุ่น

แบบ A ใจเย็นๆ ช้าๆ ไม่ทรมาน 

บางคนไม่อยากเปลี่ยนแปลงตัวเองมาก เลยเลือกออกกำลังกายแบบค่อยๆเป็นค่อยๆไป ช้าๆ 

คุมอาหารบ้าง บางทีก็ปล่อยบ้าง ไม่เครียด 

ออกกำลังกายบ้าง อาทิตย์ละ 2-3 วันหรือมากกว่านั้น แต่วันไหนถ้าไม่ได้ไปก็ไม่เดือดร้อน

ข้อดี: คนที่ทำแบบนี้ จะมีสุขภาพจิตดี และเข้าสังคมได้ง่ายโดยไม่ต้องเปลี่ยนอะไรมาก กินข้าว ไปเที่ยว ก็กินได้สบายๆ และไม่ต้องใช้เวลาในยิมมากเท่าไหร่

ข้อดีของการทำอะไรช้าๆ คือโอกาสผิดพลาดน้อย เช่น ค่อยๆเพิ่มกล้าม เราก็จะไม่กินเยอะจนอ้วน หรือค่อยๆลดไขมัน เราก็จะไม่โหยจนเกินไป 

ข้อควรระวัง: สำหรับคนที่ใจเย็นๆ บางทีเราลืมตั้งเป้าหมาย ทำให้ผลลัพธ์ได้ช้า หรือบางที เราได้ผลช้า เลยเกิดการท้อได้ 


แบบ B ใจร้อน เห็นผลเร็วๆ 

บางคนชอบท้าทายๆ ชอบเห็นผลเร็วๆ และใจร้อน จึงยอมใช้ชีวิตสุดโต่ง 

คนประเภทนี้ มักจะโพส หรือพูดคำประเภท “no pain no gain” หรือให้เหตุผลว่า “ยอมทำอะไรที่คนอื่นไม่ทำ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เหนือกว่า” ยอมทรมานได้

ยอมกินอาหารที่ตัวเองไม่ชอบ และออกกำลังกายหนักๆ บ่อยๆ ถึงขั้นไม่เข้าสังคม หรือบางทีต้อง Pack อาหารไปกินเวลาสังสรรค์

ข้อดี: ได้ผลลัพธ์ที่เร็ว (ถ้าทำถูกวิธีนะ) และได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆเยอะมากในเวลาอันสั้น ทำให้คุ้มค่าเวลา 

ข้อควรระวัง: ที่สังเกตได้บ่อยมาก คือคนประเภทนี้ มักจะมีช่วงที่ หุ่นดี และช่วงที่ ‘หลุด’ ก็คือช่วงที่ไม่มีแรงฮึด (ถ้าคุณฮึดได้ทุกวัน ทั้งปี 10 ปี 20 ปี โดยไม่หลุดแม้แต่นิดเดียว ยินดีด้วย)

ดังนั้นที่ควรระวังคือช่วงที่ไม่ฮึด เรามักจะเด้งกลับไปใช้ชีวิตสุดโต่งในอีกทาง เช่น

เคยคุมอาหารเคร่งๆ ก็เด้งกลับไปกินแหลก หรือเคยออกกำลังกายเยอะๆ พอมีช่วงที่บาดเจ็บก็ท้อ และเลิกออกไปเลยพักนึง


แบบ C ไม่ทำอะไรเลย 

ฉันไม่สน และไม่เคยคิดว่าจะต้องทำอะไรเพื่อให้หุ่นดี หรือสุขภาพดี…

ข้อดี: ชีวิตมีความสุขในแบบที่เขาเป็น ฉันอ้วน แล้วไง? ภูมืใจที่เป็นแบบนี้ 

ข้อควรระวัง: ถ้าเกิดวันหนึ่งสุขภาพถดถอย อาจจะถึงวันที่สายไป และกลับมาคิดใหม่ได้ว่า เออ รู้งี้ฉันเพลาๆบ้างก็ดีนะ เรื่องเหล้า เรื่องกินแหลก


แล้วแบบไหนดีสุด!? 

บอกก่อนเลยว่าไม่มีแบบไหนดีที่สุด เพราะชีวิตใครชีวิตมัน แต่! สิ่งที่ผมแนะนำว่าเหมาะสมที่สุดคือการตั้งเป้าหมายให้เป็น และมีความรู้ที่จะสามารถเลือกใช้ชีวิตแบบไหนก็ได้!

สำหรับคนที่อยากสุขภาพดี – แนะนำแบบ A

สำหรับคนที่อยากกล้ามใหญ่ – แนะนำแบบ A ค่อยๆกิน อย่ารีบเพราะจะทำให้อ้วนแทนที่จะกล้ามขึ้น

สำหรับคนอยากผอม – แนะนำแบบ A ก่อน แล้วค่อยๆเปลี่ยนเป็นแบบ B หลังจากที่ทำแบบ A คล่องแล้ว

สำหรับดารา นายแบบ นางแบบ – แนะนำแบบ B ในช่วงที่ต้องใช้หุ่น แต่ต้องใช้ชีวิตแบบ A เป็น ไม่งั้นจะโทรม

สำหรับคนที่เป็นโรค เช่นเบาหวาน หัวใจ – แนะนำแบบ B ก่อนเพื่อให้เข้าสู่สภาวะ “ปลอดภัยหายห่วง” จากนั้นเรียนรู้วิธีการทำแบบ A เพื่อให้ใช้ชีวิตต่อแบบสบายๆ 

และสำหรับทุกคน ทุกเคส ผมแนะนำว่าควรมีการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน และ “ฉลาด” นั่นก็คือการใช้หลักการ SMART GOAL วันนี้มาดูกันว่าทำยังไง


SMART GOAL ตั้งเป้าหมายยังไง ให้ฉลาด

  • Sustainable – แปลว่า สามารถทำต่อเนื่องได้ 
  • Measurable – แปลว่า วัดผลลัพธ์ได้อย่างชัดเจน
  • Attainable – แปลว่า สามารถทำได้ (ไม่ใช่ตั้งเป้าว่าอยากบินได้ หรือปล่อยพลังได้ อันนี้เว่อไป)
  • Relevant – แปลว่า เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราต้องการ เช่น อยากกล้ามใหญ่ แต่ดันตั้งเป้าว่าต้องวิ่งมาราธอน 42กิโล 
  • Time Bound – แปลว่า ต้องมีเวลากำหนดชัดเจน มี Time Frame 

Case Study

เรามาดูกัน ว่าแบบไหนเป็นการตั้งเป้าหมายที่ดี และฉลาด

เคส 1 พี่จ๊อด

นายจ๊อด น้ำหนัก 71 KG เคยเป็นคนอ้วนมาก่อน และลดจาก 94 ลงมาเหลือ 71 ได้ ตอนนี้อยากรักษาหุ่นให้ดีต่อไปเรื่อยๆ และอยากลดไขมันให้เห็น Six Pack และกล้ามชัด

พี่จ๊อดเป็นคนชอบกินและชอบทำอาหารมากๆ  

ตั้งเป้าแบบไม่ SMART 

โค้ชครัช ผมว่าจะอดแป้งไปเลยเพื่อให้ผอมเร็วๆ แล้วก็ปั่นจักรยานวันละ 3 ชั่วโมง 

แล้วก็ทำ Sit Up วันละ 200 ครั้ง จะได้กล้ามใหญ่ มี Six Pack เร็วๆครับ 

ตั้งเป้าหมายแบบ SMART 

โค้ชครัช ผมว่าจะค่อยๆลดอาหารประเภทน้ำตาลลง 20% และลด Calorie ให้น้ำหนักตัวลด 0.2-3 KG ต่ออาทิตย์

ผมจะปั่นจักร์ยานสัก 3-4 วันตามที่ว่าง และเรามาดูกันว่า 3 เดือนผมจะลดได้สักเท่าไหร่ แล้ววัดผลด้วยการเทียบรูป ก่อนและหลัง 

โดยเน้นการยก Bench Press เพื่อพัฒนาให้กล้ามอกใหญ่ขึ้น เราจะวัดผลกันทุกเดือนว่ายกได้หนักขึ้นไหม จะได้รู้ว่าพัฒนาไปแค่ไหนแล้ว

และใน 1 ปี ผมจะค่อยๆเพิ่ม Calorie ขึ้นและสร้างกล้ามเนื้อช้าๆ ปีหน้าจะได้หุ่นเป๊ะครับ


เคส 2 น้องซีน 

น้ำหนักตัว 50 ปัญหาคืออดอาหารมาก่อน และกินน้อยมากๆๆๆ และต้องออกกำลังกายหนักมาก แทบทุกวันเพื่อให้รักษาหุ่นนี้ไว้ 

เป้าหมาย: อยากหุ่นดี แบบไม่ทรมาน

ปัญหาที่พบคือน้องทั้งถ่ายหนัง ละคร จึงต้องรักษาหุ่นให้ดีตลอด แต่ทรมานเรื่องการกินมากๆ

ตั้งเป้าหมายแบบไม่ SMART 

โค้ชคะ ซีนอยากให้หุ่นลีนขึ้น มีกล้าม แต่น้ำหนักลดต่ำกว่า 50 กิโล อยากขาเล็กๆ ซีนว่าจะวิ่งเยอะๆไม่เล่นเวท และกินแต่ผักผลไม้ และทำ Juice Detox ดื่มแต่น้ำผักผลไม้วันเว้นวันดีมั้ยคะ

ตั้งเป้าหมายแบบSMART 

โค้ชคะ 3 เดือนนี้หนูจะเพิ่มกล้ามเนื้อโดยที่ไม่อ้วนขึ้น ถ้าน้ำหนักตัวแกว่งนิดหน่อยไม่เป็นไร แต่หนูจะยก Deadlift ให้ได้จากตอนนี้ 60 KG X 5 ครั้ง เป็น 75 KG X 5 ใน 3 เดือน

โดยตั้งเป้าหมายระยะยาวว่าภายใน 1 ปี หนูจะน้ำหนัก 50 เท่าเดิม แต่กล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น และไขมันน้อยลง จะได้ดู LEAN และกินได้มากขึ้นค่ะ 


สังเกตว่าไม่ว่าคุณจะเลือกแบบ A หรือแบบ B ท้ายสุดแล้ว ถ้าเรามี Time Frame ที่ชัดเจน ทั้งสองวิธีต้องปนๆกันไป และที่สำคัญ 

คุณต้องหัดใช้ชีวิตให้ได้ทั้งสองแบบครับ

อย่าลืม ว่าเราอยากหุ่นดี เพื่อมีความสุข

แต่ถ้าเราต้องเห็นคนอื่นกินของอร่อย หรือเห็นคนอื่นสนุกกันในเวลาที่เราต้องออกกำลัง

นั่นแหละ คือจุดที่คุณควรคิดว่า จริงๆแล้วคุณกำลังมีความสุขอยู่หรือเปล่า