3 ปัญหา ของคนอยากเริ่มฟิต

คนอยากหุ่นดี มักเจอปัญหาง่ายๆ 3 ข้อ วันนี้ขอนำมาเล่า โดยผ่านสุภาษิตที่คนไทยคุ้นเคยกันอยู่แล้วครับ อ่านต่อเลย!   1. กบเลือกนาย: เห่อสูตรนั้นสูตรนี้ แต่สุดท้าย ทำไม่จบสักสูตร 2. ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด: อ่านเยอะ สงสัยเยอะ แต่ไม่เริ่มเสียที 3. ขี่ช้างจับตั๊กแตน: เคร่งเว่อร์ เพื่อผลลัพธ์ที่ไม่คุ้ม และท้อภายหลัง   แต่ละข้อ ผมเคยเป็นมาแล้วทั้งนั้น วันนี้มาดูกันเลยครับ ว่าแต่ละอย่างเป็นอย่างไรและแก้ไขอย่างไร


1. กบเลือกนาย

ดูสูตรไดเอ็ทในเน็ต เห็นว่าเค้าลดได้เยอะ ลองทำดูบ้าง ทำได้ 2 อาทิตย์รู้สึกว่าไม่เห็นได้ผล เลยลองเปลี่ยนสูตร พอลองอันใหม่ เห้ยได้ผล!

แต่ทำไปสักพัก มีอีกสูตรท่าทางจะง่ายกว่า ก็ไปลอง ลองไป 10 กว่าสูตร เริ่มรู้สึกว่ายุ่งยาก พอเลิกเห่อ ก็ไม่ได้ทำต่อ รู้งี้ ลองทำสูตรแรกต่อให้ครบสัก 2-3 เดือน จะได้รู้ว่ามันดีไม่ดี… น่าจะเวิร์คกว่า  

ประสบการณ์ตรงของผม ย้อนเวลากลับไป 14 ปีที่แล้ว ผมเป็นเด็กเนิร์ดผอมๆที่มีพุงมีนม (skinny fat) แต่ไม่เคยเล่นกีฬาเลย เหตุผลที่เริ่มเล่นกีฬา ไม่ได้อยากหุ่นดี แต่แค่ไม่อยากโดนแกล้ง จึงเริ่มเล่นยูโดเล่นยูโดได้ 1-2 เดือน รู้สึกว่าทำไมยังสู้เพื่อนไม่ได้ ก็ไปเล่นคาราเต้ แต่ด้วยความที่มันยาก ก็ไปเล่นกังฟู พอเล่นได้ 1-2 เดือน ก็ยังสู้ใครไม่ได้อยู่ดี จึงโดนอาจารย์ด่า ว่าถ้าจะเล่นมันซะทุกอย่าง อย่างละนิด แต่ไม่ตั้งใจ ให้เวลาสักอย่าง เมื่อไหร่จะสู้ใครเขาได้  

พอเจอคำนี้เข้าไป จึงเปลี่ยนทัศนะคติของตัวเองครั้งใหญ่ ทำให้เลิกจับจด และฝึกซ้อมเพียงอย่างเดียว แต่เอาจริงเอาจัง ซึ่งตอนนั้นสิ่งที่ทำคือเริ่มยกเวท และเล่นกังฟู อย่างค่อนข้างจริงจัง ผลที่ได้ ไม่ได้เกิดชั่วข้ามคืน แต่ค่อยๆเกิด จาก 3-4 เดือนที่เห็นความแตกต่างครั้งแรก เราก็ทำต่อ จนแข็งแรงขึ้น (สุดท้ายพอโตมา เราวางตัวในสังคมเป็น ก็ไม่มีใครแกล้งอยู่ดี)   สิ่งที่อยากให้ทุกคนทำ: หากสูตรไหนที่คิดว่า ฟังแล้วหลักการสมเหตุสมผล และน่าจะทำไหว ให้ใช้สูตรนั้นไป หากรู้สึกว่าไม่เหมาะ อย่าเพิ่งเลิก ให้ค่อยๆปรับ เพราะไม่มีสูตรไหนที่จะเหมาะกับเรา 100% เท่ากับสูตรที่เราค่อยๆปรับเองครับ      


2. ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด

ตั้งคำถามตลอด ว่าอะไรดีที่สุดสำหรับฉัน แต่ใช้วิธีการอ่าน หรือฟังคนอื่น ในการตัดสินใจ ทำให้มีข้อมูลในหัวเยอะมาก เยอะ… จนไม่กล้าลงมือทำ เพราะกลัวว่าหากลงมือทำแล้ว จะไม่ได้รับสิ่งที่ดีที่สุด ง่ายที่สุด จึงมุ่งหน้าแสวงหาความรู้ต่อไป รู้งี้ หาคำตอบชัวๆ จากแหล่งที่น่าเชื่อถือ แล้วลงมือทำดูให้รู้ไปเลยน่าจะดีกว่า  

ประสบการณ์ตรงของผม เนื่องจากตอนเด็กๆผมเนิร์ดมาก ตอนนี้ก็เนิร์ดอยู่ ทำให้เราชอบศึกษา แต่บางครั้ง เราศึกษา ตั้งคำถาม ที่มัน “ไม่รู้จะถามไปทำไม นอกจากถามเพื่อประดับความรู้ตัวเอง” (ข้อนี้มีข้อยกเว้น เพราะ 10ปีให้หลัง ที่ผมเขียนบทความทุกวันนี้ ก็ใช้ความรู้ที่ขยันอ่านมาตั้งแต่เมื่อก่อนด้วย)  

ตัวอย่างที่ผมเป็น คือก่อนจะเริ่มออกกำลังกาย ผมมีคำถามว่า “สรุปแล้วคนเราควรจะต้องออกกำลังกายตอนกี่โมงถึงจะดีที่สุด” ซึ่งใช้เวลาสักพักเลยกว่าจะหาคำตอบได้ และพอพบคำตอบ (ที่ใช่ ณ ตอนนั้น คือเค้าบอกว่าให้ออกตอนเย็น เพราะร่างกายได้รับสารอาหารมาแล้ว) พอไปลองออกดู พบว่าคนเยอะมากช่วงเย็น ทำให้ออกไม่ได้ สุดท้าย กลับมานั่งคิด… ไม่น่าถามเลย รู้งี้ลองออกมันทั้งเช้าทั้งเย็นให้มันรู้ไปเลย อย่างน้อยไม่เสียเวลานั่งเฉยๆตั้งนาน   สิ่งที่อยากให้ทุกคนทำ: ปัญหาของความ “ไม่รู้” คือเราต้องยอมรับก่อนว่าในโลกนี้ เป็นไปไม่ได้ที่เราจะรู้ทุกอย่าง และคนเราบางครั้งไม่ได้ทำในสิ่งที่ “ดีที่สุด” เสมอไป แต่เราแค่ทำในสิ่งที่เรา

  • ทำได้
  • สะดวก
  • มีหลักการ
  • เหมาะกับเรา

    แค่นี้ก็เพียงพอแล้วครับ  


3. ขี่ช้างจับตั๊กแตน

ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะลดน้ำหนักให้ได้ และจะเปลี่ยนตนเองแบบหน้ามือไปหลังมือ! เริ่มจากการปฏิญาณบนหน้า Facebook ของตัวเองว่า “จะกินคลีน ออกกำลังทุกวันแล้วนะ” แล้วเริ่มหักดิบเลิกกินของที่ตัวเองชอบ และออกไปวิ่ง วันละชั่วโมง ทุกวัน …

ทำไปได้สักพัก รู้สึกว่าเหนื่อย ท้อ แต่เห็นเค้าบอกว่า “ผมทำได้ คุณก็ต้องทำได้” เลยทำต่อไป ทั้งๆที่รู้ว่าฝืนสังขาร หิวแค่ไหน จะกินของอร่อย​ให้เพื่อนๆเห็นก็ไม่ได้ เพราะปฏิญาณไว้แล้ว เดี๋ยวเสียหน้า สุดท้าย เหนื่อยมาก แต่พอผอมมา ก็ไม่ได้มีใครมาเชิดชูเราขนาดนั้น   รู้งี้ เริ่มเงียบๆ ค่อยๆทำ และไม่ต้องเคร่งมากดีกว่า จะได้ไม่กดดัน ไม่โดนล้อด้วย (เห้ย ไหนว่าเล่นกล้ามไง ไหนอะกล้าม? เห้ย ไหนว่าลดความอ้วนไง กินได้หราาา)    

ปัญหาข้อนี้ มันไม่ใช่แค่ว่าเราทำแล้วไม่ได้ผล เพราะบางครั้ง การมีวินัยสูง เป็นเรื่องดี แต่สิ่งที่ทำให้เราเหนื่อยนั้น มาจากพฤติกรรมของเรามากกว่า เนื่องจากมนุษย์เราไม่ได้อยู่คนเดียว ซึ่งตอนที่เริ่มเรียนรู้เรื่องโภชนาการใหม่ๆ ช่วงปีสองปีแรก ผมเข้าข่ายหมกมุ่น เห่อความรู้ ทำตัวเป็นผู้รู้ซะหมด พฤติกรรมที่ผมเป็น

  • ทุกอย่างต้อง Perfect! ออกกำลังกายทุกวันเป๊ะๆ ตามตาราง และกินตามตารางเป๊ะๆ (ตารางบอกว่าให้กินข้าว 100g ตอน 13.00 ถ้ายังไม่ 13.00 ไม่กิน! กลัวไม่ได้ผลตามสูตร)
  • ประกาศตน! ต้องบอกทุกคนว่า “ฟิตหุ่น!” และถ้าเจอใครที่ไม่ออกกำลัง ไม่คุมอาหาร จะรี่เข้าไปชักชวน และสาธยายให้ฟังทันทีว่าทำไมควรเริ่มฟิต
  • ข้ารู้ดีที่สุด! บนโต๊ะอาหาร ถ้าเจอน้ำมัน เราต้องบอกทุกคนว่า อันนี้อ้วนนะ ไม่ดีนะ เพราะคนนั้นคนนี้บอกมา

สิ่งที่ผมพบ  

  • เหนื่อยแค่ไหน ก็บอกใครไม่ได้ เพราะปฏิญาณไว้แล้ว
  • เหนื่อยมาก ที่ต้องคอยเถียงกับคนอื่น เพราะกลัวว่าสิ่งที่เราทำอยู่นั้นจะผิด
  • พอหุ่นดีแล้ว กลับไม่มีใครยินดีด้วยกับเรา แต่กลายเป็นหมั่นไส้ หรือไม่ก็เอาเราไปเปรียบเทียบกับคนที่หุ่นดีกว่า ให้เรารู้สึกแย่
  • และที่เหนื่อยที่สุด คือ เลิกไม่ได้ กลัวเสียหน้า! บางวันเราอยากจะไปกินข้าวอร่อยๆ ก็ทำไม่ได้เพราะจะโดนล้อ ว่า “อ้าว ไหนว่าตั้งใจไง?” หรือ “ก็บอกแล้ว ว่ากินแบบคนปกติก็ได้ ปะ กินหมูกะทะกัน”

สิ่งที่ควรทำ หากไม่อยากเจอปัญหาเหล่านี้

  • ไม่ต้องประกาศตนให้โลกรู้ว่าข้ากำลังลดความอ้วน
  • ไปกินข้าวกับคนอื่น อย่าเรื่องมาก เลือกกินตามที่มี อะไรที่ไม่ควรกิน ก็เขี่ยออก ไม่ต้องบ่นเยอะจะได้ไม่โดนหมั่นไส้
  • เห็นคนที่กำลังกินผิดๆ ออกกำลังผิดๆ บางครั้งถ้าเค้าไม่ได้แสดงออกว่าอยากถามเรา บางครั้งไม่ต้องแสดงความเป็นผู้รู้ก็ได้ ให้เค้าเรียนรู้เอง
  • ทำตัว ทำชีวิตให้เป็น “คนปกติ” ที่สุด แล้วจะไม่กดดัน

สรุป

วิธีแก้ปัญหาทั้งสามข้อนี้ คือต้องเรียงลำดับความคิดใหม่   จากที่เคย

  • คิด
  • คาดหวัง
  • เปรียบเทียบ

เปลี่ยนเป็น

  • คิด
  • ลงมือ
  • ปรับปรุง

แค่นี้ก็ทำให้เราฟิตหุ่นได้ต่อเนื่อง ไม่เหนื่อยเกินไป ไม่ท้อ และได้ผลในระยะยาวครับ